AMS-MT

TH | EN
คณะเทคนิคการแพทย์ | ภาควิชาเทคนิคการแพทย์

1. ประวัติความเป็นมาและสถานภาพปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2545 สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการ และเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร โดยให้มีการหลอมรวมภาควิชาต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิด ความคล่องตัว เกิดคุณภาพในการบริหารองค์กร และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ตามประกาศมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ภาระงานของภาควิชาฯ และหัวหน้าภาควิชาฯ ที่พึงประสงค์ และแนวทางการบริหารจัดการในภาควิชาฯ ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2545 เพื่อตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเทคนิคการแพทย์ จึงได้ดำเนินการศึกษารูปแบบ วิธีการที่เหมาะสม ในการปรับโครงสร้างของภาควิชาฯในคณะเทคนิคการแพทย์ และจากการระดมความคิดเห็นของบุคลากรทั้งคณะมีความเห็นว่า รูปแบบที่เหมาะสมสำหรับคณะเทคนิคการแพทย์ คือการมีหนึ่งภาควิชาฯ ต่อการผลิตบัณฑิตในแต่ละสาขาวิชา จึงได้ดำเนินการหลอมรวมภาควิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จากภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลชีววิทยาคลินิก ภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก และภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก เป็นภาควิชาเทคนิคการแพทย์  ที่ประชุมกรรมการบริหารคณะเทคนิคการแพทย์ ครั้งที่ 5/2546 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ได้นำผลจากการสัมมนามาพิจารณา และได้มีมติเห็นชอบในรูปแบบ การหลอมรวมภาควิชาฯ โดยให้รวมภาควิชาต่าง ๆ ในสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ เป็น 1 ภาควิชาฯ เริ่มแรกได้ดำเนินการเป็น โครงการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2547-2548 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญพะเยาว์ เลาหะจินดา เป็นหัวหน้าโครงการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ และได้รับจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ตามประกาศใน  ราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไปที่ 121 ตอน 1034 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2547   

ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ เปิดสอนระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตรคือ วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิค-การแพทย์) และระดับบัณฑิตศึกษาจำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) และร่วมสอนในระดับปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) ได้ผ่านการรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์เป็นเวลา 5 ปี เพื่อใช้กับนักศึกษารหัส 59-63 และสภาเทคนิคการแพทย์รับรองสถาบันเป็นเวลา 5 ปีการศึกษา ระหว่างปีการศึกษา 2559-2563

 

2. การจัดการศึกษา

ปัจจุบัน ภาควิชาเทคนิคการแพทย์   เปิดสอนในระดับปริญญาตรี โท และเอก  ดังนี้

ระดับปริญญาตรี          หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์)

ระดับปริญญาโท          หลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์)

ระดับปริญญาเอก         หลักสูตร วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์)

 

3. วิสัยทัศน์          

ผลิตคนมีคุณธรรม เป็นผู้นำวิชาการ มีมาตรฐานวิชาชีพ เป็นที่พึ่งของชุมชน

 

4. พันธกิจ          

    1. พัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนให้ได้ตามเกณฑ์สภาวิชาชีพในระดับสูงสุด และพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาของภาควิชาให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร

    2. จัดการเรียนการสอนสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์  ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ให้ได้บัณฑิตที่มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวิชาชีพและวิชาการ และแข่งขันในระดับอาเซียนได้

    3. ส่งเสริมให้บุคลากรมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสอดคล้องกับปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนและประเทศชาติ

    4. เผยแพร่ความรู้และให้บริการด้านวิชาการแก่สังคมด้วยมาตรฐานระดับสากลและเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ

    5. สร้างเครือข่ายและความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพ ในระดับชาติและนานาชาติ

    6. พัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ รักองค์กร สามัคคี และ มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม

    7. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

5. เป้าหมายของการบริหารงาน

    1. สถาบันได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพในระดับสูงสุด และหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานของ สกอ. และผลการประกันคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตรทุกหลักสูตรผ่านเกณฑ์การเผยแพร่หลักสูตรของ สกอ.

    2. บัณฑิตมีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวิชาชีพและวิชาการ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตและสังคม และมีความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

    3. บุคลากรได้รับทุนวิจัยจากภายนอก ในระดับชาติและนานาชาติ มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนและประเทศชาติ

    4. ให้บริการตรวจพิเศษทางเทคนิคการแพทย์ด้วยมาตรฐานระดับสากล จัดอบรมสัมมนาเฉพาะทาง และเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ

    5. มีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพ ในระดับชาติและนานาชาติ

    6. บุคลากรสายวิชาการมีตำแหน่งวิชาการสูงขึ้นตามกรอบเวลา มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ การบริการชุมชนและด้านการบริหาร

    7. บุคลากรมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

6. ค่านิยมภาควิชา            

รับผิดชอบ สร้างสรรค์ เชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีม

 

7. แนวทางการบริหารภาควิชา

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา การบริหารภาควิชาเทคนิคการแพทย์ เป็นการบริหารงานในเชิงตั้งรับ เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นการดำเนินงานจึงเพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการและความจำเป็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาและอุปสรรคบางอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การศึกษา การวิจัย และตลาดแรงงาน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะบัณฑิตตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต และแรงผลักดันจากคู่ความร่วมมือและสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ ดังนั้นการบริหารภาควิชาเทคนิคการแพทย์จึงมีแนวคิดในการปรับระบบการดำเนินงานและแนวทางบริหารใหม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของภาควิชาที่สอดคล้องกับคณะฯ และมหาวิทยาลัย โดยใช้กลยุทธ์ “การผลักดันทุกกระบวนการและทุกพันธกิจแบบเชิงรุกที่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม” หัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ จึงมีหน้าที่ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ที่สนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ของภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คณะเทคนิคการแพทย์ ตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และ เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (Education Criteria for Performance Excellence: EdPEx) โดยแนวทางการบริหารภาควิชาเทคนิคการแพทย์เพื่อให้สอดคล้องและบรรลุเป้าหมาย ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ 5 ด้าน  ยุทธศาสตร์เชิงรุกด้าน Food and Health และการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรทุกระดับ

 

8. คณะผู้บริหารภาควิชาชุดปัจจุบัน

      หัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์                                           รศ.ดร.สาวิตรี เจียมพานิชยกุล

      รองหัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์                                     ผศ.ดร. กันยามาส ชูชีพ

      หัวหน้าแขนงวิชาวิทยาศาสตร์การบริการโลหิต                        ผศ. ดร. น้ำผึ้ง อนุกูล

      หัวหน้าแขนงวิชาจุลชีววิทยาคลินิก                                         ผศ.ดร.กัญญา ปรีชาศุทธิ์

      หัวหน้าแขนงวิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก                                 อ.ดร.สิงห์คำ ธิมา

      หัวหน้าแขนงวิชาเคมีคลินิก                                                   ผศ.ดร.ปิยะวรรณ บุญโพธิ์

      หัวหน้าแขนงวิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก                                   ผศ.ดร.อำภา ยาสมุทร์

      กรรมการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์                                        ผศ.ดร.วุฒิชัย คำดวง

      กรรมการฝ่ายวิชาการ                                                           ผศ. ดร. ธัญญารัตน์ จอมแก้ว

      กรรมการฝ่ายกิจการนักศึกษาและกิจกรรมพิเศษ                      อ.ดร.สิงห์คำ ธิมา

      

wrapkit
AMS CMU © 2019 All rights reserved.

คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

110 ถนนอินทวโรรส ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

8.00 AM - 6:00PM

+6653-93-5072