ข้อมูลภาควิชา
ประวัติความเป็นมาและสถานภาพปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเพื่อตอบสนองต่อความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมในการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแก่ประชาชนในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จึงได้มีโครงการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ขึ้นในปีพ.ศ.2509 และได้รับอนุมัติให้เป็นภาควิชาเมื่อปีพ.ศ.2510 ต่อมาในปีพ.ศ.2512
คณะแพทยศาสตร์ได้เห็นชอบให้ภาควิชาเทคนิคการแพทย์จัดทำโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์เพื่อรับผิดชอบผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพออกไปรองรับงานในเขตภาคเหนือซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นคณะเทคนิคการแพทย์ ในปีพ.ศ.2519
ปีพ.ศ.2545 สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการและเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารโดยให้มีการหลอมรวมภาควิชาต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดความคล่องตัวเกิดคุณภาพในการบริหารองค์กรและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดนำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ คณะเทคนิคการแพทย์จึงได้ดำเนินการศึกษารูปแบบวิธีการที่เหมาะสมในการปรับโครงสร้างของภาควิชาฯ ในคณะเทคนิคการแพทย์และจากการระดมความคิดเห็นของบุคลากรทั้งคณะมีความเห็นว่ารูปแบบที่เหมาะสมสำหรับคณะเทคนิคการแพทย์ คือ การมีหนึ่งภาควิชาฯ ต่อการผลิตบัณฑิตในแต่ละสาขาวิชาจึงได้ดำเนินการหลอมรวมภาควิชาต่างๆ ในสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์จากภาควิชาเคมีคลินิก ภาควิชาจุลชีววิทยาคลินิก ภาควิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิกและภาควิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก เป็นภาควิชาเทคนิคการแพทย์
เริ่มแรกในปีพ.ศ.2547-2548 ได้ดำเนินการเป็นโครงการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญพะเยาว์ เลาหะจินดา เป็นหัวหน้าโครงการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ ต่อมาได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นภาควิชาเทคนิคการแพทย์อย่างเป็นทางการ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไปที่ 121 ตอน 1034 ลงวันที่ 7 ธันวาคม 2547 ปัจจุบัน ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ เปิดสอนระดับปริญญาตรี 1 หลักสูตร คือ วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) และระดับบัณฑิตศึกษาจำนวน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคนิคการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) และจัดการเรียนการสอนร่วมในระดับปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) โดยหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) ได้ผ่านการรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์เป็นเวลา 5 ปี เพื่อใช้กับนักศึกษารหัส 63-67 และสภาเทคนิคการแพทย์รับรองสถาบันเป็นเวลา 5 ปีการศึกษา ระหว่างปีการศึกษา 2563-2567
- แขนงวิชาเคมีคลินิก
- แขนงวิชาจุลชีววิทยาคลินิก
- แขนงวิชาภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก
- แขนงวิชาจุลทรรศนศาสตร์คลินิก
- แขนงวิชาวิทยาศาสตร์การบริการโลหิต
วิสัยทัศน์
ผลิตคนมีคุณธรรม เป็นผู้นำวิชาการ มีมาตรฐานวิชาชีพ เป็นที่พึ่งของชุมชน
ค่านิยมภาควิชา
รับผิดชอบ สร้างสรรค์ เชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีม
พันธกิจ
- พัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนให้ได้ตามเกณฑ์สภาวิชาชีพในระดับสูงสุด และพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาของภาควิชาให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร
- จัดการเรียนการสอนสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ให้ได้บัณฑิตที่มีคุณธรรมจริยธรรม เป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวิชาชีพและวิชาการ
และแข่งขันในระดับอาเซียนได้ - ส่งเสริมให้บุคลากรมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสอดคล้องกับปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนและประเทศชาติ
- เผยแพร่ความรู้และให้บริการด้านวิชาการแก่สังคมด้วยมาตรฐานระดับสากลและเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ
- สร้างเครือข่ายและความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพ ในระดับชาติและนานาชาติ
- พัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ รักองค์กร สามัคคี และ มีความเสียสละเพื่อส่วนรวม
- ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
แนวทางการบริหารภาควิชา
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา การบริหารภาควิชาเทคนิคการแพทย์ เป็นการบริหารงานในเชิงตั้งรับ เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ดังนั้นการดำเนินงานจึงเพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการและความจำเป็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาและอุปสรรคบางอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย การพัฒนาการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การศึกษา การวิจัย และตลาดแรงงาน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะบัณฑิตตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต และแรงผลักดันจากคู่ความร่วมมือและสถาบันผู้ผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ ดังนั้นการบริหารภาควิชาเทคนิคการแพทย์จึงมีแนวคิดในการปรับระบบการดำเนินงานและแนวทางบริหารใหม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของภาควิชาที่สอดคล้องกับคณะฯ และมหาวิทยาลัย โดยใช้กลยุทธ์ “การผลักดันทุกกระบวนการและทุกพันธกิจแบบเชิงรุกที่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม” หัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ จึงมีหน้าที่ปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ ที่สนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ของภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ คณะเทคนิคการแพทย์ และเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ
การจัดการศึกษา
ปัจจุบัน ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ เปิดสอนในระดับปริญญาตรี โท และเอก ดังนี้
- ระดับปริญญาตรี หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์)
- ระดับปริญญาโท หลักสูตร วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์)
- ระดับปริญญาเอก หลักสูตร วิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (วิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์)
เป้าหมายของการบริหารงาน
- สถาบันได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพในระดับสูงสุด และหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานของ สกอ.
และผลการประกันคุณภาพการศึกษาระดับหลักสูตรทุกหลักสูตรผ่านเกณฑ์การเผยแพร่หลักสูตรของ สกอ. - บัณฑิตมีคุณภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวิชาชีพและวิชาการ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์เป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตและสังคม
และมีความสามารถในการแข่งขันทั้งในระดับชาติและนานาชาติ - บุคลากรได้รับทุนวิจัยจากภายนอก ในระดับชาติและนานาชาติ มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนและประเทศชาติ
- ให้บริการตรวจพิเศษทางเทคนิคการแพทย์ด้วยมาตรฐานระดับสากล จัดอบรมสัมมนาเฉพาะทาง และเป็นแหล่งอ้างอิงทางวิชาการ
- มีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพ ในระดับชาติและนานาชาติ
- บุคลากรสายวิชาการมีตำแหน่งวิชาการสูงขึ้นตามกรอบเวลา มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ การบริการชุมชนและด้านการบริหาร
- บุคลากรมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม